: NOOMSAOTOURS        02-625-1555

ปราสาทวัดพู...มรดกโลกแห่งลาวใต้

ปราสาทวัดพู หรือวัดภู (Vat Phou Temple complex) มรดกโลกแห่งที่ 2  ของ สปป.ลาว อยู่ที่เมืองจำปาสัก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องมา เมื่อมาเยือนลาวใต้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวกัน

‘ສະບາຍດີ ‘ 

วันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวกัน ที่....ปราสาทวัดพู

มารู้จักข้อมูลคร่าวๆของที่นี่กันก่อน เพื่ออรรถรสในการชมนะครับ

ปราสาทวัดพู มรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว ตั้งอยู่ใน นครจำปาสัก ของลาวตอนใต้  เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้น ในสมัยของขอมเรืองอำนาจ ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร ตั้งอยุ๋บริเวณ เขาศิวบรรพต หรือ ที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า นั่นเอง เป็นภูเขาที่มียอดลักษณะคล้ายๆศิวลึงค์ ซึ่งเรียกศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นว่า สวยัมภูวลึงค์ ด้วยเหตุที่เขาศิวบรรพตนั้น คล้ายกับศิวลึงค์นั่นเอง น่าจะเป็นแรงจูงใจในการสร้างเทวาลัย เพื่อประดิษฐานรูปเคารพตามความเชื่อฮินดูขึ้นในที่สุด ปราสาทวัดพูนั้นมีฐานะถึงขั้นเป็นอารามหลวงของอาณาจักรในสมัยนั้นเลยทีเดียว และสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยของพระเจ้ามเหนทรวรมัน โดยพระยากัมมะธา ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ซึ่งสร้างมาก่อน เขาพระวิหาร และ พนมรุ้ง แต่คาดว่า ผู้ก่อสร้าง น่าจะอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน และ สืบเชื้อสายต่อๆกันมา  

 

ปราสาทวัดพู ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตรและเนื่องจากวันที่เดินทางไปเราเดินทางด้วย รถบัส แต่ รถใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง ตัวปราสาทได้ ครับ จึงต้องมีการเปลี่ยน พาหนะ กันนิดหน่อย หน้าตารถท้องถิ่นก็จะเป็นแบบนี้แหละจ้า 

    

 

เมื่อเดินทางมาถึงวัดพู จากที่จอดรถทางด้านหน้า ก็จะมีชาวบ้านขายของเล็กๆน้อยๆ จากนั้น ก็จะเป็นที่ขายตั๋วเข้าชม ซึ่งในภาษาลาว คำว่าตั๋ว จะเรียกว่า ปี้ ถ้าพนักงานถามว่า มีปี้หรือยัง ก็อย่าตกใจนะครับ เค้าถามว่ามีตั๋วเข้าชมหรือยังนะ ^^ เมื่อผ่านประตูทางเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่ถึงตัวปราสาทนะครับ ยังต้องนั่งรถรางเข้าไปอีก ประมาณ 5 นาที ซึ่งตรงจุดที่เราขึ้นรถราง จะมีพิพิธภัณฑ์ ของตัวปราสาทอยู่ แต่เสียดายที่วันที่เราเดินทางไปนั้น ปิด เราเลยไม่ได้เก็บภาพมาฝากกัน ไม่เป็นไร เราเดินทางกันต่อเลย..

   

แนะนำว่าการเดินทางไปเที่ยวปราสาทหินทุกที่ จะคล้ายกันหมดนะครับ คือ เดินไกล และอากาศค่อนข้างร้อน ที่วัดพูนี่ ก็ไม่ต่างครับ ฉะนั้น เราต้องติดอาวุธให้ครบมือ ทั้ง หมวก ร่ม แว่นกันแดด รวมไปถึงน้ำขวดเล็ก หรือ ใหญ่ ก็แล้วแต่สะดวกเลยจ้า นั่งรถรางกันเลย หน้าตาของรถรางก็จะเป็นแบบนี้จ๊ะ

   

มาถึงจุดปล่อยตัวสำหรับการเดินเที่ยวปราสาทวัดพู ต้องถ่ายรูปไว้สักหน่อย เห็นทางเดินยาวๆ ไกลๆ นั่นมั้ยครับ นั่นคือเส้นทางที่เราต้องเดินไปและกลับ ท่ามกลางแสงแดด แต่ยังโชคดีที่ บนเขายังมีลมพัดอยู่ตลอดพอให้คลายร้อนไปได้ 

   

 

สิ่งที่เราจะเห็นเป็นอย่างแรกนั้น ก็คือ ทางดำเนินที่ต้อนรับด้วยเสานางเรียงหลายต้นขนาบข้าง เดินไปสู่พลับพลาหลังใหญ่ 2 หลังที่ขนาบทางเดินทั้ง ซ้ายและขวาและมีต้นตาล (น่าจะใช่นะ) 2 ต้น ยืนต้นเด่นเป็นสง่า อยู่ตรงกลาง พลับพลาทั้งสองหลังนี้น่าจะเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์ ก่อนเดินขึ้นสู่การทำพิธีโสมสูตเบื้องบน

   

 

อดไม่ได้ที่จะต้องเก็บภาพของพลับพลาทั้งสองหลัง ซึ่งถือเป็นชั้นแรก  เราจะต้องเดินผ่านพลับพลาทั้งสองหลังนี้ แล้ว ขึ้นสู่ชั้นถัดไปของตัวปราสาทครับ

   

เมื่อเดินต่อขึ้นไปเรื่อยๆแล้วก็จะต้องผ่านโคปุระ(ซุ้มประตู) ชั้นต่างๆ ที่พังทลายลงมา แสดงถึงการแบ่งเป็นชั้นๆ ตามปกติ และในบางชั้นนั้น จะมีช่วงพื้นที่ด้านซ้ายและ ขวา ซึ่งมีร่องรอยการสร้างปรางค์ อิฐองค์เล็ก ๆ เอาไว้ มากมาย ถ้าปราสาทนี้ยังคงสมบูรณ์อยู่ คงได้ชม หน้าบัน และ ทับหลัง สวยๆมากมาย และความยิ่งใหญ่อลังการณ์ของปราสาทแห่งนี้  นี่คือภาพระหว่างทาง ที่เราเดินขึ้นสู่ ตัวปราสาทหลังประธาน หัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพู

   

 

ลักษณะของบันไดหิน ที่เราเดินขึ้น สู่ ปราสาทหลังประธาน จะมีซุ้มต้นจำปาขนาดใหญ่ เป็นจุดพักเหนื่อย เราสามารถหยุดพักและชมวิวได้ที่จุดนี้

   

มาถึงชั้นสุดท้าย ต้องเดินขึ้นค่อนข้างชันมาเป็นพิเศษ เมื่อเดินหรือ ปีนขึ้นไปสำเร็จ ก็จะพบกับเทวาลัย หรือ ปราสาทหลังประธาน หัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพูแห่งนี้  โดย แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คืออาคารหินทรายส่วนหน้าเรียกว่า “มณฑป” สร้างขึ้นราวๆช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 มณฑปนี้จะมีจุดเด่นตรงที่ มีการสลักภาพเล่าเรื่องและภาพบุคคลต่างๆตามความนิยมในศิลปะเขมรมากมายทั้งที่ตัวผนังปราสาท หน้าบันและทับหลัง ด้านในสุดของมณฑปเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวลาวสร้างขึ้นในสมัยหลัง ช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนตัวปราสาทวัดพูจากเทวสถานของศาสนาฮินดูของเขมร มาเป็นวัดพุทธศาสนาแบบลาว

ด้านหลังมณฑปเป็นอาคารก่ออิฐแบบโบราณ ซึ่งก็คือ “ปราสาทประธาน” นั่นเอง ในอดีตปราสาทอิฐหลังนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ “ภัทเรศวร” ที่กษัตริย์กัมพูชาเคารพนับถือมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละ แต่ปัจจุบันไม่มีศิวลึงค์อยู่ในห้องนี้แล้ว

   

จากตัวปราสาท เดินขึ้นไปทางซ้ายมือนั้น มีทางเดินไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำใต้ดินซึมออกมาตามธรรมชาติ บริเวณหน้าผาเพิงหินด้านหลังปราสาทประธานของวัดพู จะมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดทั้งปี ชาวลาวเรียกว่า “น้ำเที่ยง” ซึ่งถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากยอดภูเกล้า “ลิงคบรรพต” เปรียบประดุจไหลมาจากศิวลึงค์แห่งพระศิวะบนเขาไกรลาส จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่หากได้ปะพรมหรือดื่มกินแล้วจะเกิดสวัสดิมงคลด้วยพรแห่งพระเป็นเจ้า

 

   

 

หากเดินออกจากปราสาทประธานไปยังโขดหินด้านหลังทางทิศเหนือ จะพบรูปแกะสลักนูนสูงของ “ตรีมูรติ” หรือรูปเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู มีพระศิวะ 5 เศียรอยู่กลาง (เรียกว่า พระสทาศิวะ) พระพรหมอยู่ด้านขวา ส่วนพระนารายณ์อยู่ด้านซ้าย การที่สลักรูปพระศิวะไว้ตรงกลางสำคัญที่สุด บ่งบอกว่าปราสาทวัดพูเป็นเทวสถานใน “ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย” คือศาสนาอินดูที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงนั่นเอง 

       

ที่ปราสาทวัดพูแห่งนี้ จะมีงานประเพณีประจำปีที่เรียกว่า "งานประจำปีวัดพู" จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม และมีงานประมาณ 3 วัน และนี่คือ ภาพที่เรามองเห็นจากด้านบน เมื่อเดินลงจากปราสาทวัดพูแห่งนี้

   

 

แม้ว่าปราสาทวัดพูจะมีสภาพที่เก่าแก่ปรักหักพังตามกาลเวลา ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่าปราสาทนครวัดที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ ในฐานะจุดกำเนิดอารยธรรมกัมพูชาสมัยเจนละผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ในอดีต ต่อเนื่องมาจนกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในจิตใจของชาวลาวเจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งใหญ่สมควรแก่การมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านและเพื่อทำความความเข้าใจวิถีศรัทธาของประเทศเพื่อนบ้านได้ดียิ่งขึ้น ... แล้วคุณละครับ เคยไป ปราสาทวัดพูแล้วหรือยัง ..TRIPWALKERS

DIRECTORY

FOLLOW US

บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด N.S. Travel & Tours Co.,Ltd

133/19-20 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ : 0 2625 1555

โทรสาร   : 0 2246 5658

อีเมล์ : info@noomsaotours.co.th

เว็บไซต์ : www.noomsaotours.co.th

(เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทหนุ่มสาวทัวร์) ติดต่อเรา

© 2024 N.S. Travel Co., Ltd. (Noom Sao Tours) All Rights Reserved.